วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุน ได้เข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายใน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจรออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์นี้ ตำรวจตระเวนชายแดนนำโดยค่ายนเรศวรจากหัวหิน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) คือ กลุ่มนวพล และ กลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
                                                           

สาเหตุของความขัดแย้ง
ในสมัยรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 มีความพยายามกลับประเทศไทย ของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2519   และการกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 หลังจากที่ทั้งสองได้เดินทางออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา
หลังจากการกลับมาของจอมพลประภาส ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้จอมพลประภาส เดินทางกลับออกนอกประเทศ  จนกระทั่งในที่สุด จอมพลประภาสจึงยินยอมเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2519
ต่อมา จอมพลถนอมได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519  โดยก่อนหน้านั้นได้แวะที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อบวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์  และได้รับอนุญาตให้เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร  สมเด็จพระญาณสังวร ได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้และตั้งฉายาว่า "สุกิตติขจโร"   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการในขณะนั้น อัญเชิญผ้าไตรพระราชทานมาด้วย  ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงได้ชุมนุมเพื่อขับไล่อีก
ในขณะนั้นได้เกิดความแตกแยก ทั้งในพรรคการเมืองและกลุ่มประชาชน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนบทบาทของนิสิตนักศึกษา และ กลุ่มที่ต่อต้านนิสิตนักศึกษา ทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็ตัดสินใจเลือก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง
                                 
ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2519 วิชัย เกษศรีพงษา และชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรร บริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แต่ตำรวจสรุปสำนวนคดีว่าเกิดจากการผิดใจกับคนในที่ทำงาน
ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ขับไล่พระถนอม ทวีความรุนแรงมากขึ้น มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีการชุมนุมเพื่ออภิปรายโจมตีรัฐบาล ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม และให้จัดการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐม  สภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาล ให้จอมพลถนอมออกนอกประเทศภายใน 5 วัน มิฉะนั้นจะหยุดงานทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นไป   ทั้งนักศึกษา สภาแรงงาน และผู้ต่อต้าน ได้รวมตัวกันประท้วงที่สนามหลวง  จากนั้นจึงย้ายเข้าไปชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทางด้านกลุ่มที่ต่อต้านการกระทำของนิสิตนักศึกษา อันประกอบด้วย กลุ่มนวพล (พลโทสำราญ แพทยกุล เป็นแกนนำ  รหัส นวพล001 เป็นหนึ่งในองคมนตรี  กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย  กลุ่มกระทิงแดง และอื่น ๆ ได้ร่วมกันแถลงการณ์กล่าวหาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สภาแรงงาน และนักการเมืองบางคนว่า ได้ถือเอากรณีพระถนอม เป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบในประเทศ  ต่อมากลุ่มเหล่านี้จึงเดินทางเข้ามาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามเสือป่า ราชตฤณมัยสมาคม และสนามหลวง เพื่อต่อต้านการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา  กลุ่มเหล่านี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุม และปลดรัฐมนตรีบางคนที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนนิสิตนักศึกษา  แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้สั่งการประการใด
ในวันที่ 4 ตุลาคม มีการชุมนุมที่ลานโพธิ์  มีการอภิปราย และการแสดงละครเกี่ยวกับกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม จัดโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   หลังจากนั้น สถานีวิทยุยานเกราะนำโดย พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยาสมัคร สุนทรเวชทมยันตี, ฯลฯ ออกข่าวว่านักศึกษาที่แสดงละคร มีใบหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชายถูกแขวนคอ  ต่อมา หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ ฉบับเช้าวันที่ 5 ตุลาคม  เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่า การแสดงดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คืนวันที่ 5 ตุลาคม สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรี ออกอากาศกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรียกร้องให้ประชาชน และลูกเสือชาวบ้าน ไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ ตลอดทั้งคืน[2] ขณะที่ทางรัฐบาล โดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้แถลงเรื่องนี้ด้วยตนเองทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ในคืนนั้นเช่นกันว่าจะจับกุมตัวผู้ดำเนินการมาลงโทษให้จงได้ โดยตอนแรกทำการติดต่อไปในหลายสถานีแล้ว แต่ทว่ากลับออกอากาศได้เพียงช่องเดียวเท่านั้น
                                                              
กลุ่มเจ้าหน้าที่ราชการ                                          
กลุ่มพลังฝ่ายขวา
กลุ่มสำคัญต่าง ๆ ที่มีส่วนในการปราบปรามและสังหารนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้แก่
กลุ่มนวพล
ขบวนการนวพล เป็นขบวนการฝ่ายขวาต่อต้านการปกครองแบบระบบคอมมิวนิสต์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2517 โดย วัฒนา เขียววิมล ที่เคยเป็นหัวหน้านักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่น พลเอกวัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร และ พลเอกสายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. ได้รับการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากฝ่ายทหาร  เน้นการสร้างความไม่พอใจระบบคอมมิวนิสต์ในประชาชนทั่วไป
พลเอกวัลลภ อธิบายเหตุผลในการก่อตั้งว่า ชาติจะอยู่รอดได้ด้วยสถาบันวัดกับวัง จึงต้องระดมประชาชนเพื่อป้องกันสองสถาบันหลักนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายหนึ่งของชื่อขบวนการนวพล คือที่หมายความว่า พลังเก้า” (หมายถึงพลังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9-รัชกาลในสมัยที่ก่อตั้ง) ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ กำลังใหม่” (ตามรูปแบบการก่อตั้ง) ขบวนการนวพลปลุกระดมกล่าวหาว่าฝ่ายซ้ายเป็นพวกที่ลบหลู่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนนำไปสู่การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังจากนั้น บทบาทของกลุ่มนี้ลดลงและถูกมองว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายทหารเท่านั้น
                                          
บุคคลสำคัญของขบวนการนวพล


ลูกเสือชาวบ้าน
ลูกเสือชาวบ้านเป็นกองกำลังหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยส่วนใหญ่พันผ้าพันคอพระราชทานในวันนั้นด้วย  ผู้ที่มีบทบาทในการก่อตั้งกลุ่มลูกเสือชาวบ้านคือ พลตำรวจโทสมควร หริกุล ผู้กำกับตำรวจชายแดนเขต 4 ร่วมมือกับข้าราชการท้องถิ่นอีกหลายคน โดยได้จัดการอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นแรก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และต่อมา พลตำรวจตรีเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก็ได้เข้าร่วมผลักดัน
กิจการลูกเสือชาวบ้านขยายตัวอย่างมากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 มีนายทหารและนักการเมืองสำคัญเข้าร่วมหลายคน เช่น พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผู้ตรวจการลูกเสือชาวบ้าน ธรรมนูญ เทียนเงิน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนคร
                                       
ชมรมวิทยุเสรี
ชมรมวิทยุเสรี เป็นกลุ่มสถานีวิทยุของทหารที่ทำงานประสานกันตั้งแต่ พ.ศ. 2519 โดยมีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแกนกลาง มีบทบาทสำคัญในการชี้นำฝ่ายกระทิงแดง และกลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ ในการเคลื่อนไหวต่อต้านนักศึกษาในวันที่ 5-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา
ชมรมแม่บ้าน
ชมรมแม่บ้านเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล และแม่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อโจมตีขบวนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพอเมริกาโดยตรง โดยมี ทมยันตี หรือวิมล ศิริไพบูลย์ (เจียมเจริญ) เป็นแกนสำคัญ โดยโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ

                                                                                                    ที่มา:วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น