วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปฏิกิริยาของประชาชนต่อ รัฐประหาร พ.ศ.2549

ฝ่ายสนับสนุน
• ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาให้กำลังใจทหารที่จุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก ภายหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ โดยแสดงความชื่นชมเหล่าทหาร ด้วยการมอบดอกไม้ ส่งยิ้ม ถ่ายรูปด้วย แม้กระทั่งมีการพ่นสีข้อความว่า "พล.อ.สนธิ วีรบุรุษชาวไทย" และ"กองทัพเพื่อประชาชน" บนตัวถังรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เป็นต้น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ในบริเวณถนนราชดำเนิน ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ตื่นตะหนก และร่วมถ่ายรูปกับทหารและรถถัง (ซึ่งประดับด้วยดอกไม้ที่ประชาชนมอบให้) เป็นที่ระลึก หรือ มอบน้ำ อาหาร ให้แก่ทหารด้วย
• ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชื่นชมว่า "จากที่ดูภาพในซีเอ็นเอ็น เป็นการยึดอำนาจที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ เราก็รู้สึกสบายใจว่ามันคงไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประชาชนยอมรับ ขณะที่ต่างชาติก็รู้สึก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน"
• สวนดุสิตโพล ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน ในวันที่ 20 ก.ย. 49 พบว่าประชาชน 83.98% จากกลุ่มสำรวจ เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าจะการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำลง ผลสำรวจแตกต่างจากโพลสำรวจการเลือกตั้งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยถึง 49%
• กลุ่มนักธุรกิจทั่วประเทศแสดงความคิดเห็นโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจกระทบบ้างแต่ชั่วคราว และจะสยบความวุ่นวายของประเทศ นักธุรกิจในกลุ่มนี้ เช่น นายสุรศักดิ์ วงศ์มังกร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม, นายทวิสันต์ โลณารักษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ที่ปรึกษาหอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์, นายรุ่งโรจน์ สีเหลืองสวัสดิ์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ, นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย, นายประทีป พงษ์วิทยภานุ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี, นายชุมพร เตละวัฒนะวรรณา ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคใต้, นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคใต้, นายอาทิตย์ ลิ้มอุดมพร ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร, นายประยูร สงค์ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทย เป็นต้น
• นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ เนื่องจากประเทศมีปัญหาจากผู้นำที่ไม่ชอบธรรม และบริหารด้วยระบอบเผด็จการประชาธิปไตย จึงควรหยุดระบอบเผด็จการนั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศน้อยที่สุด การปฏิรูปฯครั้งนี้เป็นการดีที่ไม่เสียเลือดเนื้อ นายสมภพ บุนนาค แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น กล่าวเห็นชอบกับ คปค.ว่า "การยึดอำนาจของ คปค.ครั้งนี้ แม้จะขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นชอบ เพราะเป็นการปลดล็อกปมปัญหาของชาติ เพื่อสะสางอุปสรรคสังคมการเมืองให้สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ผ่านมาเพื่อล้มระบอบทักษิณ ไม่สามารถผ่าทางตันได้ จำเป็นที่ทหารต้องเข้ามาจัดการหาทางออกให้ อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนต้องติดตามต่อว่า ภายหลัง เข้ามาแก้ปัญหาของ คปค.ครั้งนี้จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เร็ว ตามที่หัวหน้าคณะฯได้ประกาศไว้หรือไม่" และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของ คปค.ว่า "กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่าประชาชนใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็จบ มีบริบทแวดล้อมหลายประการที่ประกอบเป็นระบอบประชาธิปไตย"
ฝ่ายคัดค้าน
วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ในช่วงเที่ยงวัน ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ นายทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำการประท้วงการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนราชดำเนิน นายทวีกางป้ายขนาดใหญ่สองป้ายระบุว่า "กระผม นายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก" พร้อมทั้งทำการแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกของตนให้กับบรรดาสื่อมวลชนด้วย ในเวลาต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัว ร.ต.ฉลาด ขึ้นรถมิตซูบิชิ ที่มีรถบัสทหารติดตามระบุ ร.๑ พัน๑ รอ. ไปที่หน่วยบังคับบัญชา จากนั้น 3 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 7 นาย ได้ล็อกตัวนายทวีขึ้นรถตู้สีขาวและขับออกไปทันที โดยระหว่างขึ้นรถนายทวีมีอาการขัดขืน จากนั้นทหารบางส่วนได้เข้าเก็บป้ายประท้วงออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาประณามรัฐบาลเผด็จการทหารว่าเป็น การ "ฉีก" รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมกันการร่างมากที่สุด การปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ, รวมไปถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและได้เรียกร้องประชาชนร่วมกันใส่ชุดดำหรือปลอกแขนดำเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตย
กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ ได้ขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คัดค้านการรัฐประหาร
กลุ่มองค์กรที่เรียกตัวเองว่า "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" มีการชุมนุมและกล่าวแถลงการณ์ที่หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 18.00 น. ซึ่งศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยและกล่าวว่าพวกเขาจะยื่นแถลงการณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิ์ในการชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน โดยเห็นว่ารัฐบาลชั่วคราวขาดความชอบธรรม และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง
หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร การประท้วงครั้งแรกมีขึ้นที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 20-100 คนหรือมากกว่า ผู้ประท้วงแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และได้เชิญชวนให้ประชาชนที่คัดค้านการรัฐประหารใส่เสื้อดำในการประท้วงป้ายประท้วงมีข้อความ "No to Thaksin. No to coup" ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร") และ "Don't call it reform - it's a coup" ("นี่ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการรัฐประหาร") มีป้ายหนึ่งเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกำกับว่า "On vacation again" ("งดใช้ชั่วคราว") รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า "เราเชื่อว่าเราเป็นกระบอกเสียงของคนไทยอีกมากที่ยังเป็นห่วงหรือที่ยังกลัวที่จะพูดออกมา" การประท้วงครั้งนี้ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม แต่ตำรวจนายหนึ่งกล่าวว่า "ตำรวจได้บันทึกวิดีโอการประท้วงไว้เป็นหลักฐาน และจะตรวจสอบเทปเพื่อหาผู้ที่ละเมิดกฎอัยการศึก คือ มีการชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน" ไม่มีใครรู้ว่าตำรวจหรือทหารได้จับกุมเขาเหล่านั้นในเวลาต่อมาหรือไม่ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องใดรายงานเรื่องการประท้วงครั้งนี้ หนังสือพิมพ์ The Independent รายงานว่าตำรวจติดอาวุธหลายนายได้ฝ่าฝูงชนและผู้ชุมนุมเข้าจับกุมผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงไม่ทราบชื่อคนหนึ่งซึ่งนับเป็นผู้ประท้วงคนแรก ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยมีตำรวจนายหนึ่งได้ใช้ปืนกระแทกเข้าที่บริเวณท้องของเธอและทำการจับกุม ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายคนต่างพยายามฉุดเธอกลับ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ใครทราบชะตากรรมของเธอ
วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 17.00 น. กลุ่มประท้วงกลุ่มที่สองซึ่งประกอบด้วยผู้ประท้วงจำนวน 50-60 คน ได้มาชุมนุมกันที่ลานปรีดี หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออภิปรายคัดค้านการรัฐประหาร และจัดเสวนาในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร?" ซึ่งจัดโดยศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของ ม.ธรรมศาสตร์ในชื่อ"กลุ่มโดมแดง", เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ, นิสิตนักศึกษาจาก ม.มหิดล, ม.รามคำแหง, ม.เกษตรศาสตร์ โดยระบุว่าเป็นการอารยะขัดขืนภาคปฏิบัติ อุเชนทร์ เชียงแสน ผู้ก่อตั้งกลุ่มโดมแดงกล่าวว่า "ถ้าพวกเขา [ทหาร] จับกุมหรือทำร้ายเรา เราจะไม่สู้ แต่นี่แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปทางการเมืองตามที่ คปค.กล่าวอ้างเป็นเรื่องโกหก" การชุมนุมครั้งนี้กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงโดยมีการขึงป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "Council of Demented and Ridiculous Military" การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากวี่แววของเจ้าหน้าที่
วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีผู้กล่าวโทษพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน กับพวกในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทางดีเอสไอได้รับเรื่องไว้ดำเนินการตามกฎหมาย ตามเลขรับ ที่ 03614 พอทางกองทัพบกและรัฐบาลได้ทราบ จึงได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าว โดยยึดถือตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวที่ได้นิรโทษกรรม การกระทำความผิดไม่ว่ากรณีใด ๆ ของคณะปฏิรูปฯ แต่ทางดีเอสไอได้แย้งว่า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษต่างจากกฎหมายอย่างอื่น ที่กฎหมายแม่สามารถหักล้างกฎหมายลูกได้ กล่าวคือ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาทางกฎหมายกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นสนธิสัญญาความร่วมมือแนวนโยบายและปฏิบัติระหว่าง FBI และหน่วยงานสอบสวนกลางของประเทศในกลุ่มภาคีสมาชิกเพื่อต่อต้านการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง การนิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถกระทำได้
วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 16.00 น. "เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ" จัดเสวนากลางแจ้งในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร" ที่ลานหน้าตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ร่วมอภิปราย ภายในวันเดียวกันนี้ "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่" ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" ที่บริเวณลานสนามหญ้า หน้าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่การเสวนาดำเนินไประยะหนึ่ง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภต.ภูพิงค์ พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ประมาณ 20 นาย ได้ขอความร่วมมือให้ผู้จัดยุติการเสวนา เนื่องจากขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก แต่การเสวนาก็ดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด กระทั่งผู้จัดประกาศเลิกการเสวนา เมื่อเวลา 19.40 น.
วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 12:46 น. นาย นวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ขับรถแท็กซี่พ่นสีคำว่า "พลีชีพ" ที่กระโปรงท้าย ส่วนบริเวณด้านข้างประตูรถทั้งสองข้างพ่นเป็นตัวหนังสือจับใจความว่า "พวกทำลายประเทศ"พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนรถพังยับเยิน และตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก และ ตาซ้ายบวมเป่ง หลังจากนั้นแท๊กซี่จำนวนหลายร้อยคันรีบรุดไปเยี่ยมแต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยมเรื่องราวการรวมตัวของกลุ่มแท๊กซี่ไม่ได้ถูกรายงานข่าวต่อสาธารณะชน
วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เวลา 17:00-18:00 น. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัด อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติสัญจร’ ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน บริเวณหน้ากองบัญชาการทหารบก ถนนราชดำเนินนอก (ตรงข้ามเวทีมวยราชดำเนิน) มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และในช่วงท้ายยังมีการจุดไฟเผารัฐธรรนูญชั่วคราวของ คปค. เพื่อแสดงความไม่ยอมรับในการเข้ามาทำหน้าที่ของ คปค.
วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นักศึกษาและญาติวีรชนร่วมพิธีเวียนประทีปจากลานโพธิ์ไปรอบสนามฟุตบอลในงาน "30 ปี 6 ตุลา" เพื่อรำลึกการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ช่วงเวลา 14.00 น.ที่หอประชุมเล็ก มธ. มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ" โดยมี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ร่วมเสวนา โดยมีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กับ 19 กันยา 2549 ว่าเมื่อมีการนำมาพูดคุยกันก็เกิดการทะเลาะกันตลอด แต่ไม่มีการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา
วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2549 การรวมตัวกันอีกครั้งในงานรำลึกวีรชน 14 ตุลาฯ มีเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร เริ่ม 16:30 น. ใช้สัญลักษณ์คือชุดดำ เพื่อไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย โดยเวลา 19.50 น.เคลื่อนขบวนมาจากบริเวณสนามฟุตบอลหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเริ่มขบวนหัวแถวอยู่ประตูใหญ่ท้ายแถวอยู่หน้าตึกคณะวารสารฯ เคลื่อนมาหยุดยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินเพื่อประท้วงรัฐประหาร ระหว่างทางร้องตะโกนว่า "คปค.ออกไป" จากนั้นตั้งแผ่นป้าย "ขอไว้อาลัยแด่ รธน.ฉบับประชาชน" และป้ายผ้าไม่มี ปชต.ในระบบเผด็จการ และจุดเทียนไว้อาลัย
วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2549 กลุ่มผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสังคมไทย เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายแรงงาน กว่า 200 คน ได้เดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนการประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยภาคประชาชน ผู้ชุมนุมถือป้ายผ้าข้อความเรียกร้องต่าง ๆ เช่น "ยกเลิกกฎอัยการศึก" "ค่าแรงขั้นต่ำ 7,000 บาท" "Right Base not Charity Base" โดยมีทหารราว 20 นายเฝ้าจับตาอยู่ ทั้งหมดมีอาวุธพร้อมรบและกระจายกำลังจุดละ 2 นายในมุมตึกต่าง ๆ ก่อนที่ขบวนจะเดินทางกลับสู่อนุสรณ์สถานฯ ทหารนายหนึ่งได้ขอเชิญตัวผู้แจกใบปลิว โดยระบุว่าข้อความในใบปลิวขัดต่อกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามาห้อมล้อม ทหารนายนั้นจึงกล่าวว่า "ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง"


ที่มา:วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org

รัฐประหาร พ.ศ. 2549

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เป็นการก่อรัฐประหารใน ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนับเป็นการก่อรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและเซ็นเซอร์สื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ได้แถลงเมื่อวันที่ 21 กันยายน ถึงสาเหตุในการยึดอำนาจและให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกาศว่า หลังจากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งยังไม่มีการอธิบายถึงบทบาทที่มีต่อการเมืองไทยในอนาคต
ภายหลังรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ใน 41 จังหวัด แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด
รัฐประหารดังกล่าวไม่มีการเสียเลือดเนื้อและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ปฏิกิริยาตอบรับจากนานาชาติมีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย การแสดงความความเป็นกลาง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนถึงการแสดงความผิดหวังอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต และกล่าวว่า การก่อรัฐประหารนั้น "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้"
ชนวนเหตุ
พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน เปิดเผยว่าได้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือนในการเตรียมการก่อรัฐประหาร ซึ่งหมายความว่าเริ่มวางแผนในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเดิมทีแล้ว พลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเคยรับประกันว่าจะไม่มีการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549
ในเดือนกรกฎาคม แม่ทัพภาคที่ 3 พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ได้ให้สัมภาษณ์ว่าการเมืองไทยอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และความเป็นผู้นำที่อ่อนแอ เขายังกล่าวอีกว่าประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ทวีวุฒิ จุลวัจนะ ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกบนเว็บบอร์ดการเมืองที่เป็นที่นิยมที่สุดในประเทศไทย โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลทางทหาร กล่าวว่า กองทัพและสนธิ ลิ้มทองกุลกำลังสมคบคิดในการวางแผนล้มล้างรัฐบาลทักษิณ และคืนอำนาจให้กับประชาชน หลังจากการปฏิรูปประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายทหารกองทัพบกระดับกลางกว่าร้อยนาย ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ถูกบรรจุใหม่โดยกองบัญชาการทหารสูงสุด ทำให้มีข่าวลือว่ากองทัพแบ่งแยกออกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านนายกรัฐมนตรี
ต่อมา ในเดือนสิงหาคม มีรายงานเคลื่อนไหวของรถถังใกล้กับกรุงเทพมหานคร แต่ฝ่ายทหารกล่าวว่าเป็นการฝึกซ้อมตามกำหนดการ เมื่อต้นเดือนกันยายน ตำรวจไทยได้จับกุมนายทหารกองทัพบกจำนวน 5 นาย ซึ่งมีตำแหน่งในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หลังจากที่สามารถตรวจพบว่าหนึ่งในคณะนายทหารมีระเบิดซุกซ่อนอยู่ในรถ ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งหน้าไปยังที่พักของนายกรัฐมนตรีตามข้อกล่าวหา ซึ่งสามในห้าของผู้ที่ถูกจับกุมถูกปล่อยตัวหลังจากการก่อรัฐประหาร
พฤศจิกายน 2549 สองเดือนหลังจากรัฐประหาร คมช. ได้ออก "สมุดปกขาว" ชี้แจงสาเหตุของการก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่ายังมีสาเหตุอีกบางประการนอกเหนือจากเหตุผลของ คมช. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับประธานองคมนตรี

ลำดับเหตุการณ์
เช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม ยกเว้น พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้ช่วงบ่ายมีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีข่าวลือว่ารัฐมนตรีและนักการเมืองร่วมรัฐบาลหลายคนได้หลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่ากำลังทหารหน่วยรบพิเศษจาก จ.ลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ
เวลา 18.00 น. นายสมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ F.M. 92.25 MHz นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบ พล.อ.สนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ วันพรุ่งนี้
ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก
เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และ ถ.ราชดำเนินไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง
เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 ได้อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง
เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
การกะเวลาก่อรัฐประหาร

ในภายหลัง พลเอกสนธิ ได้ให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า การก่อรัฐประหารเดิมถูกวางแผนให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 20 กันยายน เพื่อให้ตรงกับการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า เขาได้กล่าวอ้างถึง "ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโปรตุเกส" ซึ่งได้มีการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับการก่อการปฏิวัติโดยกองทัพ ซึ่งโค้นล่มพระเจ้ามานูเอลที่ 2 แห่งโปรตุเกส และจัดตั้งสาธารณรัฐโปรตุเกสที่หนึ่ง การก่อรัฐประหารถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 19 กันยายน ขณะที่รักษาการนายกรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในนิวยอร์ก พลเอกสนธิยังได้กล่าวอีกว่า ครั้งหนึ่งที่ พ.ต.ท. ทักษิณกำลังรับประทานอาหารกลางวันกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขาได้ถามพลเอกสนธิว่า "คุณจะปฏิวัติผมหรือเปล่า" ซึ่งพลเอกสนธิก็ตอบว่า "ใช่" ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับแถลงการณ์ต่อสาธารณะซึ่งเขาปฏิเสธว่ากองทัพจะก่อการรัฐประหาร
เดอะ เนชั่น ยังได้มีข้อสังเกตถึงการกะเวลาของการก่อรัฐประหาร โดยมีหลายกรณีที่เดียวข้องกับเลข 9 ซึ่งเป็นเลขมงคลอย่างยิ่งตามความเชื่อ การก่อรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เดือน 9 ปีพุทธศักราช 2549 หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอก สนธิ บุญยรัตกลินได้ประกาศต่อสาธารณชนหลังจากการก่อรัฐประหารเมื่อเวลา 9.39 น.

ที่มา:วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org

พระราชดำรัสเนื่องในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

" คงเป็นที่แปลกใจ ทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่า เหตุการณ์มีความยุ่งเหยิงอย่างไร และทำให้ประเทศชาติล่มจมได้. แต่ที่จะแปลกใจก็อาจมีว่า ทำไมเชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะว่า อาจมีผู้ที่แสดงเป็นตัวละครมากกว่านี้. แต่ว่าที่เชิญมาเพราะว่า ตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน, แล้วก็ในที่สุด เป็นการต่อสู้ หรือการเผชิญหน้ากว้างขวางขึ้น ถึงได้เชิญ ๒ ท่านมา.

การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้ง ๒ ฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร, แต่ต่อมาภายหลัง ๑๐ กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่า การเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งออกมาอย่างไรก็ตาม เสียทั้งนั้น, เพราะว่า ทำให้มีความเสียหาย ในทางชีวิต เลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควร แล้วก็ความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการ และส่วนบุคคลเป็นมูลค่ามากมาย นอกจากนี้ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ อย่างที่จะนับพรรณนาไม่ได้.

ฉะนั้นการที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป. ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป. แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้ว. ฉะนั้นจะต้องแก้ไข โดยดูว่ามีข้อขัดแย้งอย่างไร แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขตามลำดับ เพราะว่าปัญหา ที่มีอยู่ทุกวันนี้ สองสามวันนี้มันเปลี่ยนไป. ปัญหาไม่ใช่เรื่องเรียกว่า ของการเมือง หรือ เรียกว่า ของการดำรงตำแหน่ง เป็นปัญหาของการสึกหรอของประเทศชาติ ฉะนั้นจะต้องช่วยกันแก้ไข.

มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำ ในการแก้ไขสถานการณ์มาหลายฉบับ หลายคนจำนวนเป็นร้อย แล้วก็ทั้งในเมืองไทย ทั้งต่างประเทศที่ส่งมา ที่เขาส่งมาการแก้ไข หรือข้อแนะนำว่า เราควรจะทำอะไรก็มี ก็มีต่างๆ นานา ตั้งแต่ตอนแรกบอกว่าแก้ไขวิธียุบสภา ซึ่งก็ได้หารือกับทางทุกฝ่ายที่เป็นสภา. หมายความว่า พรรคการเมืองทั้งหมด ๑๑ พรรคนี้ คำตอบมีว่าไม่ควรยุบสภา มี ๑ รายที่บอกว่าควรยุบสภา ฉะนั้นการที่จะแก้ไข แบบที่เขาเสนอมานั้น ก็เป็นอันว่าตกไป. นอกจากนั้นก็มีเป็นฎีกา และแนะนำวิธีต่างๆ กัน ซึ่งได้พยายามเสนอไปตามปกติ คือเวลามีฎีกาขึ้นมา ก็ส่งไปให้ทาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขตามแบบนั้น.

ตกลงมีแบบยุบสภา และมีอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ตามประสงค์ที่ต้องการ หมายความว่าประสงค์เดิม ที่เกิดเผชิญหน้ากัน.

ความจริงวิธีนี้ถ้าจำได้ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ก็ได้พูดต่อสมาคม ที่มาพบจำนวนหลายพันคน แล้วก็ดูเหมือนว่าพอฟังกัน ฟังกันโดยดี เพราะเหตุผลที่มีอยู่ในนั้น ดูจะแก้ปัญหาได้พอควร. ตอนนี้ก็พอย้ำว่าทำไมพูดอย่างนั้น ว่าถ้าจะแก้ก่อนออกก็ได้ หรือออกก่อนแก้ก็ได้ (พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔) อันนั้นทุกคนก็ทราบดีว่าเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ. ซึ่งครั้งนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทำมาตลอด มากกว่าฉบับเดิมที่ตั้งเอาไว้ได้แก้ไข. แล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ศาลาดุสิดาลัย ก็ได้พบพลเอกสุจินดา ก็ขออนุญาตเล่าให้ฟัง​. แล้วพลเอกสุจินดาก็เห็นด้วยว่า ควรจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้. และตอนหลังนี้ พลเอกสุจินดาก็ได้ยืนยันว่า แก้ไขได้ก็ค่อยๆ แก้เข้าระเบียบให้เป็นที่เรียกว่า ประชาธิปไตย. อันนี้ก็ได้พูดมาตั้งหลายเดือนแล้ว ในวิธีการที่จะแก้ไข. แล้วข้อสำคัญ ที่ทำไมอยากให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ครบถ้วน. ก็เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้น มีคุณภาพพอใช้ได้ ดีกว่าธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่ใช้มาเกือบปี. เพราะเหตุว่ามีบางข้อบางมาตราซึ่งเป็นอันตราย, แล้วก็ไม่ครบถ้วนในการที่จะปกครองประเทศ. ฉะนั้นก็นึกว่า ถ้าหากว่าสามารถที่จะปฏิบัติตามที่ได้พูดในวันที่ ๔ ธันวาคมนั้นก็นึกว่า เป็นการกลับไปดูปัญหาเดิม ไม่ใช่ปัญหาของวันนี้.

ปัญหาของวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ. ทุกวันนี้คือความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน. ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่า ประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบากตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ. เพราะเหตุว่าในขณะนี้ ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ. ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับ คนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่า ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้. แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิด ที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย, ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้. ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือ พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือ หันหน้าเข้าหากัน, ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน. เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่าบ้าเลือด, เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร, แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร. เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้. แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร. ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง.

ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน, และสองท่าน เท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย. ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น. แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร? สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี. อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่าน ก็เข้าใจว่า :-

จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี.

แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน. ก็มีข้อสังเกตดังนี้ ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ ท่านเปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นผู้ใหญ่ ผู้พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือกัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติ. เพื่อสร้างสรรค์ประเทศ ให้เข้าสู่ความปลอดภัยในเร็ววัน ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ."

ที่มา:http://th.wikiquote.org

แผนไพรีพินาศ

แผนไพรีพินาศ เป็นแผนยุทธการจัดวางกองกำลังและสลายการชุมนุม ในลักษณะของแผนเผชิญเหตุ จัดทำขึ้นโดยกองกำลังรักษาพระนครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน นำไปปฏิบัติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 และ พ.ศ. 2529 ได้มีการพัฒนาปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

ส่วนแผนที่มีผลบังคับใช้ขณะเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คือ แผนไพรีพินาศ/33 ซึ่งมี 4 ขั้นตอน ได้แก่

1.ขั้นการเตรียมการ โดยให้ทุกกองกำลังออกหาข่าว รวบรวมข่าวสาร และเตรียมกำลัง เจ้าหน้าที่ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติการ
2.ขั้นป้องกัน ใช้กองกำลังตำรวจในการสกัดกั้น ให้การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ก่อความไม่สงบ ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โดยถูกต้องและยุติการกระทำเอง ทางเจ้าหน้าที่จะปิดล้อมพื้นที่สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งอารักขาสถานที่และบุคคลสำคัญของประเทศ
3.ขั้นปราบปรามรุนแรง หากการปฏิบัติการขั้นที่ 2 หรือกองกำลังตำรวจไม่สามารถที่จะระงับสถานการณ์ได้สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้แล้ว จึงใช้กองกำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เข้าระงับยับยั้งยุติภัยคุกคาม
4.ขั้นสุดท้าย คือ การส่งมอบพื้นที่และความรับผิดชอบ ให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือตำรวจรับผิดชอบต่อไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ที่มา:วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org

ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2535

พ.ศ. 2534

23 กุมภาพันธ์ - คณะ รสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
พ.ศ. 2535

22 มีนาคม - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ พรรคสามัคคีธรรม ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ถูกขึ้นบัญชีดำผู้ค้ายาเสพย์ติดจากสหรัฐอเมริกา
7 เมษายน -พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
8 เมษายน - ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
17 เมษายน - มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
20 เมษายน - พรรคฝ่ายค้านเริ่มการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ100,000คน
4 พฤษภาคม -พลตรีจำลอง ศรีเมือง เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
7 พฤษภาคม -พลเอกสุจินดา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม ขณะเดียวกันบริเวณหน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมร่วมประท้วง จนต้องมีการปิดประชุมโดยกระทันหัน
8 พฤษภาคม -พลเอกสุจินดา แถลงถึงเหตุผลที่ต้องมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
9 พฤษภาคม - นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาประสานให้พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านร่วมกันตกลงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประการ และพลตรีจำลอง ประกาศเลิกอดอาหาร
11 พฤษภาคม -พลตรีจำลอง ประกาศสลายการชุมนุมและประกาศชุมนุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม หากในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัญญาว่าจะแถลงถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีความคืบหน้า
15 พฤษภาคม - พรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการให้สัมภาษณ์โดยพลการของ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าจะแก้ให้มีบทเฉพาะกาล ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพลเอกสุจินดา ต้องดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี เสียก่อน
17 พฤษภาคม - รัฐบาลจัดคอนเสิร์ตต้านภัยแล้งสกัดม็อบที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ โดยขนรถสุขาของกรุงเทพ ฯ มาไว้ที่นี่หมด ช่วงเที่ยงคืนเริ่มเกิดการตำรวจปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม
18 พฤษภาคม - ก่อนรุ่งสาง รัฐบาลเริ่มนำทหารจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เวลาบ่ายพลตรีจำลอง ศรีเมือง และผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม
19 พฤษภาคม - กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ถูกจับกุมย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
20 พฤษภาคม - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่าย คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง เข้าเฝ้า โดยผู้ที่นำเข้าเฝ้าคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
24 พฤษภาคม -พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง แถลงการณ์ร่วมกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและพลเอกสุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง
10 มิถุนายน - แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสนอชื่อพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ตัดสินใจนำชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
13 กันยายน - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่มา:วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org

พฤษภาทมิฬ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (พลเอกสุจินดาแถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ชนวนเหตุ
เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หรือ 1 ปีก่อนหน้าการประท้วง ซึ่ง รสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยพรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม (79 คน) ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการรวมตัวกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ คือ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร[2] และมีการเตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด
ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเมื่อได้รับพระราชทานแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ในระหว่างที่มีการทักท้วงโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกประกาศใช้
พรรคเทพ พรรคมาร
พรรคเทพ พรรคมาร เป็นคำที่สื่อมวลชนใช้เรียกกลุ่มพรรคการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน พรรคที่ถูกเรียกว่า พรรคเทพ คือพรรคที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหาร รสช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และได้ประกาศต่อสาธารณะมาตลอดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่กระแส "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง" เป็นกระแสหลักของสังคมไทยในขณะนั้น พรรคเทพ ประกอบด้วย 4 พรรคการเมืองคือ พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง) พรรคประชาธิปัตย์ (44 เสียง) พรรคพลังธรรม (41 เสียง) และพรรคเอกภาพ (6 เสียง)
ในขณะที่ พรรคมาร คือพรรคที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูร ประกอบด้วยพรรคการเมือง 5 พรรค ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง) พรรคชาติไทย (74 เสียง) พรรคกิจสังคม (31 เสียง) พรรคประชากรไทย (7 เสียง) และพรรคราษฎร (4 เสียง) ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และทั้ง 5 พรรคนี้ต่างเคยตอบรับมาก่อน แต่ในที่สุดกลับหันมาสนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูร และเห็นว่าเป็นการพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร (รสช.)
การต่อต้านของประชาชน
พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ภายหลังได้มารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยพูดไว้ เหตุการณ์นี้ จึงได้เป็นที่มาของประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำการเคลื่อนไหวอีกด้วย
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ดังกล่าว นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงการอดอาหารของ ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์, พรรคเอกภาพ, พรรคความหวังใหม่และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
หลังการชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเข้าเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร และเริ่มมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณราชดำเนินกลาง ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ
กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนประชาชนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจและทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนของประชาชน เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด และมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จากนั้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ แต่ได้นำไปสู่การปะทะกันกับประชาชน มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินจากนั้นจึงเข้าสลายการชุมนุมในเข้ามืดวันเดียวกันนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
เวลา 15.30 นาฬิกา ของวันที่ 18 พฤษภาคม ทหารได้ควบคุมตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุมกลางถนนราชดำเนินกลาง และรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับและรายงานข่าวทางโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกช่องยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด เริ่มมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำอีกเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เหวง โตจิราการ สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ โดยระบุว่าบุคคลเหล่านี้ยังคงชุมนุมไม่เลิก และยังปรากฏข่าวรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหลายจุดและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้นในบริเวณถนนราชดำเนิน
19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอีก แต่ยังปรากฏการรวมตัวของประชาชนใหม่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนวันเดียวกัน และมีการเริ่มก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มจักรยานยนต์หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เช่นการทุบทำลายป้อมจราจรและสัญญาณไฟจราจร
วันเดียวกันนั้นเริ่มมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน ขณะที่สื่อของรัฐบาลยังคงรายงานว่าไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานภาพของการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยบางฉบับเริ่มตีพิมพ์ภาพการสลายการชุมนุม ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนเอกชนในประเทศ
ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ ด้วยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ในอดีต ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในครั้งนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อนึงว่า "ม็อบมือถือ"

ไอ้แหลม
ไอ้แหลม เป็นชื่อที่เรียกบุคคลลึกลับซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดจนถึงทุกวันนี้ เป็นชายที่ส่งเสียงรบกวนวิทยุสื่อสารของทหารและตำรวจตลอดระยะเวลาการชุมนุม โดยมักกวนเป็นเสียงแหลมสูง และมีประโยคด่าทอรัฐบาล ทหารและตำรวจด้วยวาทะที่เจ็บแสบ

ที่มา:วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เบื้องหลังวิกฤติ 6 ตุลาคม 2519



ที่มา:http://www.youtube.com

การสังหาร 6 ตุลาคม 2519

เวลาเช้ามืดราว 2:00 นาฬิกา กลุ่มกระทิงแดงทุกจุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมปฏิบัติการโดยประสานงานกับตำรวจนอกเครื่องแบบ และมีกลุ่มกระทิงแดงเข้าแทรกตัวปะปนกับหมู่นิสิตนักศึกษา กลุ่มนวพลได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมนิสิตนักศึกษา
                                     
เวลาราว 5:00 นาฬิกา เริ่มมีการยิงจากภายนอกเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยถูกล้อมไว้ เวลา 7 นาฬิกา กลุ่มทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ได้ใช้รถบัสพุ่งชนประตูมหาวิทยาลัย  ทั้งหมดเข้าสู่มหาวิทยาลัยและใช้อาวุธหนักระดมยิง  ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษและตำรวจนครบาลจากท้องที่ต่าง ๆ เข้าถึงที่เกิดเหตุ เวลา 8 นาฬิกา  ตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมยิงกระสุนเข้าใส่นักศึกษา
เวลา 8.30 นาฬิกา-10:00 นาฬิกา นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิ่งหนีวิถีกระสุนจากตำรวจตระเวนชายแดนและกลุ่มผู้ก่อเหตุ นักศึกษาบางคนวิ่งหนีออกทางประตูหน้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาบางส่วนหนีอออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา หลายคนถูกรุมตีรุมกระทืบ บางคนที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บถูกนำไปแขวนคอ และถูกผู้คนแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพ กลุ่มคนบางกลุ่มลากเอาศพนักศึกษามาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยใช้ยางรถยนต์ทับและราดด้วยน้ำมันเบนซิน บางส่วนใช้ของแข็งทำอนาจารศพนักศึกษาหญิง
เวลาราว 11:00 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่] และให้นักศึกษานอนคว่ำหน้ากับพื้นสนามฟุตบอล จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน กลุ่มคนที่มุงดูใช้ก้อนหิน อิฐ ไม้ ขว้างปาผู้ที่อยู่บนรถ
เวลาราว 16:00 นาฬิกา กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นำโดย พลตำรวจโทเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และกลุ่มแม่บ้าน นำโดย ทมยันตี ได้บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยใช้รถบรรทุกที่ทำเป็นเวทีปราศรัยบุกพังประตูเข้าไป บางคนได้ถือเชือกเข้าไปโดยจะเข้าไปแขวนคอ 3 รัฐมนตรีของรัฐบาล ได้แก่ ชวน หลีกภัยดำรง ลัทธพิพัฒน์สุรินทร์ มาศดิตถ์ เนื่องจากกล่าวหาว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นคอมมิวนิสต์
                                      

แต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ลงไปพบและยืนยันว่าบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว มีผู้ตะโกนถามว่า ท่านจะจัดการอย่างไร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ตอบว่า ตนเองจะบอกให้รัฐมนตรีทั้ง 3 ลาออกเองเพื่อความสงบของบ้านเมือง มีผู้ถามต่อไปว่า ถ้าบุคคลทั้ง 3 ไม่ลาออกจะทำอย่างไร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ตอบว่า ตนเองจะลาออกเอง แต่ภายหลังข้อความนี้ได้ถูกวิทยุยานเกราะนำไปตัดต่อกลายเป็นข้อความว่า ท่านไม่เคยรู้มาก่อนว่าบุคคลทั้ง 3 นี้เป็นคอมมิวนิสต์ และจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ครั้นถึงเวลา 18:00 นาฬิกา คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง มีผลให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง และธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
หลังจากเหตุการณ์นี้ มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี โดยแกนนำนักศึกษา 19 คนถูกคุมขังตีตรวนโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้เข้าล้อมปราบไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ  มีผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนจากประเทศต่าง ๆ จนเมื่อ 3 ปีผ่านไป ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด
                                   
                                                                ที่มา:http://th.wikipedia.org

6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุน ได้เข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายใน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจรออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์นี้ ตำรวจตระเวนชายแดนนำโดยค่ายนเรศวรจากหัวหิน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) คือ กลุ่มนวพล และ กลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
                                                           

สาเหตุของความขัดแย้ง
ในสมัยรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 มีความพยายามกลับประเทศไทย ของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2519   และการกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 หลังจากที่ทั้งสองได้เดินทางออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา
หลังจากการกลับมาของจอมพลประภาส ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้จอมพลประภาส เดินทางกลับออกนอกประเทศ  จนกระทั่งในที่สุด จอมพลประภาสจึงยินยอมเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2519
ต่อมา จอมพลถนอมได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519  โดยก่อนหน้านั้นได้แวะที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อบวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์  และได้รับอนุญาตให้เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร  สมเด็จพระญาณสังวร ได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้และตั้งฉายาว่า "สุกิตติขจโร"   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการในขณะนั้น อัญเชิญผ้าไตรพระราชทานมาด้วย  ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงได้ชุมนุมเพื่อขับไล่อีก
ในขณะนั้นได้เกิดความแตกแยก ทั้งในพรรคการเมืองและกลุ่มประชาชน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนบทบาทของนิสิตนักศึกษา และ กลุ่มที่ต่อต้านนิสิตนักศึกษา ทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็ตัดสินใจเลือก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง
                                 
ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2519 วิชัย เกษศรีพงษา และชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรร บริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แต่ตำรวจสรุปสำนวนคดีว่าเกิดจากการผิดใจกับคนในที่ทำงาน
ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ขับไล่พระถนอม ทวีความรุนแรงมากขึ้น มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีการชุมนุมเพื่ออภิปรายโจมตีรัฐบาล ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม และให้จัดการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐม  สภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาล ให้จอมพลถนอมออกนอกประเทศภายใน 5 วัน มิฉะนั้นจะหยุดงานทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นไป   ทั้งนักศึกษา สภาแรงงาน และผู้ต่อต้าน ได้รวมตัวกันประท้วงที่สนามหลวง  จากนั้นจึงย้ายเข้าไปชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทางด้านกลุ่มที่ต่อต้านการกระทำของนิสิตนักศึกษา อันประกอบด้วย กลุ่มนวพล (พลโทสำราญ แพทยกุล เป็นแกนนำ  รหัส นวพล001 เป็นหนึ่งในองคมนตรี  กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย  กลุ่มกระทิงแดง และอื่น ๆ ได้ร่วมกันแถลงการณ์กล่าวหาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สภาแรงงาน และนักการเมืองบางคนว่า ได้ถือเอากรณีพระถนอม เป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบในประเทศ  ต่อมากลุ่มเหล่านี้จึงเดินทางเข้ามาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามเสือป่า ราชตฤณมัยสมาคม และสนามหลวง เพื่อต่อต้านการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา  กลุ่มเหล่านี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุม และปลดรัฐมนตรีบางคนที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนนิสิตนักศึกษา  แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้สั่งการประการใด
ในวันที่ 4 ตุลาคม มีการชุมนุมที่ลานโพธิ์  มีการอภิปราย และการแสดงละครเกี่ยวกับกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม จัดโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   หลังจากนั้น สถานีวิทยุยานเกราะนำโดย พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยาสมัคร สุนทรเวชทมยันตี, ฯลฯ ออกข่าวว่านักศึกษาที่แสดงละคร มีใบหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชายถูกแขวนคอ  ต่อมา หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ ฉบับเช้าวันที่ 5 ตุลาคม  เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่า การแสดงดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คืนวันที่ 5 ตุลาคม สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรี ออกอากาศกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรียกร้องให้ประชาชน และลูกเสือชาวบ้าน ไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ ตลอดทั้งคืน[2] ขณะที่ทางรัฐบาล โดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้แถลงเรื่องนี้ด้วยตนเองทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ในคืนนั้นเช่นกันว่าจะจับกุมตัวผู้ดำเนินการมาลงโทษให้จงได้ โดยตอนแรกทำการติดต่อไปในหลายสถานีแล้ว แต่ทว่ากลับออกอากาศได้เพียงช่องเดียวเท่านั้น
                                                              
กลุ่มเจ้าหน้าที่ราชการ                                          
กลุ่มพลังฝ่ายขวา
กลุ่มสำคัญต่าง ๆ ที่มีส่วนในการปราบปรามและสังหารนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้แก่
กลุ่มนวพล
ขบวนการนวพล เป็นขบวนการฝ่ายขวาต่อต้านการปกครองแบบระบบคอมมิวนิสต์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2517 โดย วัฒนา เขียววิมล ที่เคยเป็นหัวหน้านักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่น พลเอกวัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร และ พลเอกสายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. ได้รับการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากฝ่ายทหาร  เน้นการสร้างความไม่พอใจระบบคอมมิวนิสต์ในประชาชนทั่วไป
พลเอกวัลลภ อธิบายเหตุผลในการก่อตั้งว่า ชาติจะอยู่รอดได้ด้วยสถาบันวัดกับวัง จึงต้องระดมประชาชนเพื่อป้องกันสองสถาบันหลักนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายหนึ่งของชื่อขบวนการนวพล คือที่หมายความว่า พลังเก้า” (หมายถึงพลังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9-รัชกาลในสมัยที่ก่อตั้ง) ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ กำลังใหม่” (ตามรูปแบบการก่อตั้ง) ขบวนการนวพลปลุกระดมกล่าวหาว่าฝ่ายซ้ายเป็นพวกที่ลบหลู่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนนำไปสู่การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังจากนั้น บทบาทของกลุ่มนี้ลดลงและถูกมองว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายทหารเท่านั้น
                                          
บุคคลสำคัญของขบวนการนวพล


ลูกเสือชาวบ้าน
ลูกเสือชาวบ้านเป็นกองกำลังหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยส่วนใหญ่พันผ้าพันคอพระราชทานในวันนั้นด้วย  ผู้ที่มีบทบาทในการก่อตั้งกลุ่มลูกเสือชาวบ้านคือ พลตำรวจโทสมควร หริกุล ผู้กำกับตำรวจชายแดนเขต 4 ร่วมมือกับข้าราชการท้องถิ่นอีกหลายคน โดยได้จัดการอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นแรก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และต่อมา พลตำรวจตรีเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก็ได้เข้าร่วมผลักดัน
กิจการลูกเสือชาวบ้านขยายตัวอย่างมากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 มีนายทหารและนักการเมืองสำคัญเข้าร่วมหลายคน เช่น พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผู้ตรวจการลูกเสือชาวบ้าน ธรรมนูญ เทียนเงิน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนคร
                                       
ชมรมวิทยุเสรี
ชมรมวิทยุเสรี เป็นกลุ่มสถานีวิทยุของทหารที่ทำงานประสานกันตั้งแต่ พ.ศ. 2519 โดยมีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแกนกลาง มีบทบาทสำคัญในการชี้นำฝ่ายกระทิงแดง และกลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ ในการเคลื่อนไหวต่อต้านนักศึกษาในวันที่ 5-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา
ชมรมแม่บ้าน
ชมรมแม่บ้านเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล และแม่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อโจมตีขบวนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพอเมริกาโดยตรง โดยมี ทมยันตี หรือวิมล ศิริไพบูลย์ (เจียมเจริญ) เป็นแกนสำคัญ โดยโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ

                                                                                                    ที่มา:วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org